ศูนย์วิจัยกสิกรฯ หั่น GDP ปี’67 โต 2.6% จับตาสงครามกีดกันทางการค้าแรงขึ้น

20 มิถุนายน 2567
ศูนย์วิจัยกสิกรฯ หั่น GDP ปี’67 โต 2.6% จับตาสงครามกีดกันทางการค้าแรงขึ้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดเศรษฐกิจไทยปี’67 ขยายตัวที่ 2.6% ชะลอตัวจากระดับ 2.8% ที่เคยคาดการณ์ไว้ ตามการลงทุน การใช้จ่ายภาครัฐที่ต่ำกว่าคาด ส่งออกฟื้นตัวช้า แนะจับตาความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้า

วันที่ 20 มิถุนายน 2557 นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า แม้ที่ผ่านมาเศรษฐกิจสหรัฐจะให้ภาพแรงส่งของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่แข็งแรงกว่าคาด จนตลาดปรับการคาดการณ์ว่าเฟดจะยังไม่ลดอัตราดอกเบี้ยในเร็ว ๆ นี้ หรือ Higher for Longer นั้น
แต่ก็มีประเด็นที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากในระยะหลัง ได้แก่ นโยบายภาษีของสหรัฐ และยุโรปที่กีดกันอุตสาหกรรม Cleantech ของจีน ได้แก่ รถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ และแผงโซลาร์ ซึ่งมองว่าจะส่งผลให้เกิดการย้ายฐานการผลิตในภูมิภาคยุโรป อาเซียน และอเมริกาใต้

ขณะที่หากโดนัลด์ ทรัมป์ กลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอีกครั้ง กลยุทธ์ของจีนในการกระจายความเสี่ยงทางการค้า อย่างเช่น China+1 ที่ขยายฐานการผลิตออกจากจีนไปยังประเทศอื่น ๆ เพื่อเลี่ยงกำแพงภาษีทางการค้า ก็มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบ ดังนั้น ไทยต้องจับกระแสประเด็นการเปลี่ยนแปลงนี้ เพื่อภาคอุตสาหกรรมไทยปรับทิศทางได้ทัน
โอกาสของไทยและภูมิภาค
“ในสถานการณ์ดังกล่าว เป็นโอกาสของประเทศไทยและภูมิภาคเช่นกัน โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวกับ Clean Tech และ EV ที่ไทยมีโอกาสที่ดีจากทรัพยากรต่าง ๆ ที่มีมาก เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งหากไทยใช้รถไฟฟ้าเราจะลดค่าใช้จ่ายราว 1.2 ล้านล้านบาท รวมถึงมาตรการ China+1 ที่ไทยจะได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตมาที่ไทย แต่เราต้องมีการปรับตัวในด้านต่าง ๆ เพื่อให้เอื้อต่อการลงทุนด้วย นอกจากนี้ ประเทศในกลุ่มอาเซียนควรจะต้องรวมพลังกันมากขึ้น เพื่อเพิ่มอำนาจ ในการต่อรองรวมถึงการมีบทบาททั้งตลาดเขตเศรษฐกิจและศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญของโลก”

เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง
นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองเพิ่มเติมถึงทิศทางเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ว่า มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นตามการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ และการส่งออกที่ขยายตัวเป็นบวกมากขึ้นจากปัจจัยฐานต่ำในปี 2566 อย่างไรก็ตาม ประเด็นความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นข้างต้น การระบายสินค้าจากกำลังการผลิตส่วนเกินจากจีนมายังตลาดโลกรวมถึงไทย ในขณะที่ปัญหาเชิงโครงสร้างและความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง มีผลให้ส่งออกไทยฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดการณ์

โดยสรุปภาพรวมทั้งปี 2567 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะอยู่ที่ 2.6% ชะลอตัวจากระดับ 2.8% ที่เคยคาดการณ์ไว้เดิม ตามการลงทุน และการใช้จ่ายภาครัฐที่ต่ำกว่าคาด ประกอบกับการส่งออกไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด โดยในครึ่งปีแรกเติบโต 1.6% มีปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากการบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยว

“ส่วนครึ่งปีหลังมองเติบโต 3.6% รับปัจจัยขับเคลื่อนจากการท่องเที่ยวและการลงทุน การใช้จ่ายของภาครัฐที่เข้ามาเสริมหลังการเบิกจ่ายงบประมาณ”

แนะปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมขนาดใหญ่
ด้านแนวโน้มภาคอุตสาหกรรมไทยนั้น นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ให้น้ำหนักกับ 3 ปัจจัยที่จะกระทบภาคอุตสาหกรรมในช่วงข้างหน้า ได้แก่

1. ความไม่แน่นอนของการเบิกจ่ายภาครัฐ ที่จะกระทบอุตสาหกรรมก่อสร้าง

2. สินค้านำเข้าที่ไหลเข้าไทยเพิ่มขึ้น จากผลของสงครามการค้า ซึ่งจะกระทบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ และเหล็ก

3. ต้นทุนทางธุรกิจเพิ่มขึ้น ทั้งราคาน้ำมันดีเซลที่ภาครัฐทยอยลดการอุดหนุน และค่าแรงที่มีทิศทางสูงขึ้น จะกระทบต่อเอสเอ็มอีโดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้แรงงานเข้มข้น

“ทั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ภาครัฐควรเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ กวดขันสินค้านำเข้าและสนับสนุนการใช้วัตถุดิบในประเทศ (Local Content) รวมถึงเติมสภาพคล่องให้กับ SMEs และเน้นวางแผนการจัดการน้ำ ขณะเดียวกัน ถึงเวลาที่ทุกภาคส่วนจะต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจขนานใหญ่ ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพในทุกมิติ ทำให้รายได้เติบโตเร็วกว่าการเพิ่มขึ้นของต้นทุน”
แหล่งที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.